ขวดเพ็ท PET คือ…?

หลายคนอาจเคยได้ยินรายการโทรทัศน์พูดถึง”ขวดเพ็ท (PET)” มันก็คือ ”ขวดใสที่ใส่น้ำดื่ม” ทั่วๆไปนั่นเอง แต่จริงๆแล้วคำว่า PET ย่อมาจาก Polyethylene Terephthalate ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ทำทั้งขวดน้ำ กระปุกเนยถั่ว ขวด กระบอกน้ำ สบู่ กล่องผลไม้และอีกหลายๆอย่าง

คุณสมบัติ

ขวดเพ็ท (PET) สามารถทนความเป็นกรด และสามารถกันการซึมผ่านของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี เราจึงพบเห็นได้มากจากการนำไปบรรจุน้ำดื่ม น้ำชา น้ำหวาน และน้ำอัดลม

วิธีใช้ที่ถูกต้อง

  • ขวดเพ็ทจะอ่อนตัว เสียรูป ที่อุณหภูมิประมาณ 70 – 75 องศาเซลเซียส
  • ขวดเพ็ทสามารถวางทิ้งไว้ในรถได้
  • สามารถนำน้ำอุ่นมากรอกใหม่ได้ (อุณหภูมิต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส)
  • ขวดเพ็ทไม่ควรแช่ช่องฟรีซ เพราะจะทำให้ขวดเปราะและแตกได้
  • การล้างขวดเพื่อนำมาใช้ซ้ำ ควรใช้ฟองน้ำแบบนิ่มในการขัดถู และล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์

ขวด HDPE คือ…?

ทุกคนอาจจะงงๆถ้าพูดคำว่า “ขวด HDPE” แต่บางคนอาจจะคุ้นเคยกับขวดน้ำกลั่นหรือขวดน้ำดื่มแบบขุ่น นั่นละคือ ขวด HDPE ย่อมาจาก High Density Polyethylene ซึ่งเป็นพลาสติกที่มักจะผลิตออกมาเป็นขวดน้ำสีขาวขุ่นในสมัยก่อน

คุณสมบัติ

พลาสติก HDPE นั้น ทนต่อสารเคมี มีลักษณะขุ่น ยืดหยุ่น ผิวไม่มันเงา แข็ง เหนียว ไม่เปราะแตกง่าย ยิ่งมีความหนาแน่นมาก พลาสติกจะยิ่งแข็ง ขุ่นมากขึ้น ป้องกันการซึมผ่านของก๊าซได้มากขึ้น ป้องกันการซึมผ่านของความชื้นได้สูงมาก ทนต่อกรด ด่างได้ดี และทนความร้อนได้พอสมควร จึงมีการเอามาทำบรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำยาทำความสะอาดแกลลอน ขวดแชมพู ขวดใส่นม ขวดใส่น้ำยาซักผ้า ขวดใส่น้ำมัน กระป๋องแป้งเด็ก ขวดน้ำมันเบรก ขวดน้ำมันเครื่อง

วิธีการใช้และข้อจำกัดในการใช้ ขวด HDPE

  • HDPE ทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -40 ไปจนถึง 100 องศาเซลเซียส
  • ถ้าทำความสะอาดอย่างถูกต้องแล้วล่ะก็ มันก็ยังเอากลับมาบรรจุน้ำหรือแชมพูได้ใหม่ด้วย
  • สำหรับการในเอากลับมาใช้ เราควรจะใช้ใส่ของที่ใกล้เคียงกับของที่เคยบรรจุในขวด เช่น ขวดสบู่ก็ใส่สบู่ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่นๆได้ แต่ไม่ควรใช้บรรจุของจำพวกน้ำมัน
  • เราสามารถเอา ขวด HDPE ที่ทำความสะอาดแล้ว นำมาใช้ซ้ำจนกว่าขวดจะแตกเลยล่ะ แต่ยังไงซะขวดHDPE ที่ใช้จนหมดสภาพแล้ว ก็อย่าเอากลับมาใช้ใหม่นะ เพราะพลาสติกเก่าที่มีรอยขีดข่วน รอยร้าว และรอยแตกจะเปิดทางให้เชื้อโรคเข้าไปในขวดได้ เอาไปแยกทิ้งเพื่อรีไซเคิลดีกว่า

นาย อัฒฑวุธิ หิรัญบูรณะ
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ถุงร้อนขุ่น HDPE คือ…?

ถุงร้อนขุ่นที่คุ้นเคย คาดว่าทุกคนคงเคยรู้จักถุงที่มีลักษณะขุ่นๆ กว่าถุงชนิดอื่นอย่าง “ถุงร้อนขุ่น” กันดี หรืออาจจะเคยได้ยินชื่ออื่นๆ เช่น “ถุงร้อนขุ่น” “ถุงไฮเดน” “ถุงขุ่น” เป็นต้น ซึ่งที่เรียกกันแบบนี้จริงๆ แล้วมันเป็นถุงชนิดที่เราได้เห็นได้ใช้กันบ่อยมากในชีวิตประจำวัน เช่น ถุงน้ำหวาน น้ำอัดลม ถุงกาแฟ ถุงน้ำเต้าหู้ ถุงบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น เรียกได้ว่าใส่ได้สารพัดจริงๆ และยังเป็นที่นิยมเพราะสะอาด น้ำหนักเบา และราคาถูก

คุณสมบัติ

  • ถุงร้อนขุ่นในท้องตลาดนั้นจะสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 100 องศาเซลเซียส และ ทนความเย็นได้ที่ประมาณ 0 องศาเซลเซียส
  • เนื้อถุงมีความแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักสินค้าที่อยู่ภายในได้
  • ยิ่งมีความหนาแน่นมาก พลาสติกจะยิ่งแข็งขุ่นและป้องกันการซึมผ่านของก๊าซได้มากขึ้น

วิธีการใช้ที่ถูกต้อง

  • ถุงขุ่นเหมาะกับการใส่อาหารแบบชั่วคราว เช่น ใช้ใส่อาหารหรือเครื่องดื่มจากที่ร้านมาจนถึงบ้าน แล้วย้ายไปใส่จานหรือใช้แบบพกพา เช่น ใส่น้ำอัดลมเดินดื่ม เป็นต้น
  • ไม่ควรเอาถุงขุ่นไปใส่ในช่องฟรีซเพราะตัวถุงจะกรอบ แตก
  • ถุงขุ่นมีคุณสมบัติที่ความชื้นและอากาศสามารถซึมผ่านได้ค่อนข้างง่าย จึงไม่เหมาะกับการนำไปบรรจุเพื่อถนอมอาหาร

ถุงร้อน PP คือ…?

คุณสมบัติ

ถุงร้อน PP แสนสะดวก ถือว่าเป็นถุงที่เราใช้กันบ่อยมากๆเลย ไม่ว่าจะเอาไปใส่อาหาร ขนม เครื่องดื่ม อย่างนี้เรายิ่งต้องทำความรู้จักกับเจ้าถุงร้อนนี้ให้ดียิ่งขึ้น ถุงร้อนมีลักษณะใสคล้ายแก้ว เหนียว คงรูป สามารถทนต่อความร้อนและสารเคมีได้ดี

วิธีการใช้ ถุงร้อน PP

  • ถุงร้อนทนต่อความร้อน ความชื้น และการซึมผ่านของอากาศได้ค่อนข้างดีกว่าถุงร้อนขุ่น HDPE
  • ถุงร้อนมีจุดหลอมเหลวสูงจึงสามารถบรรจุพวกของทอดร้อนๆ และของร้อนอื่นได้ ถึงจุดน้ำเดือด และทนความร้อนได้มากโดยไม่เสียรูป
  • ถุงร้อนป้องกันการซึมผ่านของความชื้นได้ค่อนข้างดี จึงเหมาะจะนำไปใช้ใส่อาหารแห้ง เช่น กุ้งแห้ง ขนมกรอบ และสามารถเก็บได้หลายวัน
  • ถุงร้อน ไม่ควรแช่ในช่องฟรีซเพราะเมื่อเจอความเย็นจัดจะกรอบ แตก ได้ง่าย

ถุงเย็น LDPE เป็นอย่างไร ?

คุณสมบัติ

ถุงเย็น LDPE ทำจากเม็ดพลาสติก Polyethylene ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) มีลักษณะค่อนข้างใส นิ่ม เหนียว และยืดหยุ่น ความชื้นและอากาศซึมผ่านได้ง่ายกว่าพลาสติกชนิดอื่น ทนต่ออุณหภูมิต่ำได้ดี จึงสามารถนำมาใช้บรรจุอาหารแช่แข็งได้ แต่ไม่ทนต่อความร้อน ส่วนใหญ่นิยมใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น ถุงใส่ขนมปัง ถุงเย็นสำหรับบรรจุอาหาร ถุงบรรจุผ้าอ้อมเด็ก ถุงบรรจุผ้าอนามัย เป็นต้น

วิธีการใช้ที่ถูกต้อง

  • ใช้ถุงเย็นมาบรรจุอาหารที่ต้องเก็บช่องแช่แข็งหรือตู้เย็นได้ เนื่องจากเนื้อฟิล์มสามารถทนต่อความเย็นได้ดีมาก
  • ถุงเย็นใช้ได้กับอุณหภูมิตั้งแต่ -40 ถึง 80 องศาเซลเซียส ไม่สามารถทนต่อความร้อนได้สูงมากนัก
  • ไม่ควรใส่ของที่มีน้ำมันผสมอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันธรรมดาหรือของที่เพิ่งผ่านการทอดหรือผัดน้ำมันร้อนๆเยอะๆ
  • ถุงเย็นไม่ควรใช้ใส่น้ำเดือด น้ำร้อน ทั้งที่เพิ่งออกจากหม้อ กาต้ม หรือ น้ำที่ยังมีอุณหภูมิสูงอยู่ (ประมาณ 80 องศาเซลเซียส ขึ้นไป)

รู้มั้ย “ถุงหูหิ้ว” T-SHIRT BAGS คือ…?

คุณสมบัติ

ถุงหูหิ้ว T-SHIRT BAGS โดยทั่วไปเราจะใช้บรรจุสิ่งของต่างๆ ทั้งสิ่งอุปโภค บริโภค ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีเอธิลีน ชนิด HDPE ทำให้ถุงบางกว่าถุงธรรมดาและมีสีสันสวยงาม เช่น ถุงของห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าทั่วๆ ไป ซึ่งเนื้อถุงหูหิ้วจะมีลักษณะบางแต่แข็งแรงมาก เบาแต่รับน้ำหนักได้ดี ขุ่น ทนความร้อนได้ดี ความเหนียวน้อย ไม่มีกลิ่น เลือกผลิตได้หลายสี และยังพิมพ์ลวดลายบนเนื้อฟิล์มได้ดี

วิธีการใช้ที่ถูกต้อง

เห็นบางๆ แบบนี้ ถุงหูหิ้วมีความแข็งแรงสูงและสามารถใช้ใส่ของที่มีน้ำหนักมากได้ ทั้งนี้หากถุงมีความหนาที่เหมาะสมสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกหลายครั้ง

ถุงหูหิ้วไม่ควรใช้เมื่อ…?

จริงๆ แล้วถุงหิ้วมันไม่ค่อยปลอดภัยที่เราจะเอาไปใช้ใส่อาหาร เพราะอาจจะมีผู้ผลิตบางรายใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผสมด้วยและยังผสมสีใส่ลงไปอีก แต่ก็ยังมีอีกหลายคนเอามาใช้ใส่อาหารโดยเฉพาะกล้วยแขกทอด ปาท่องโก๋ ฯลฯ เพราะต่อให้มีกระดาษรองอีกชั้น แต่สารโลหะหนักที่ปนมากับสีหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ก็มีโอกาสที่จะละลายออกมาปนเปื้อนได้ ดังนั้นพูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ควรใช้ถุงหูหิ้วใส่และสัมผัสอาหารโดยตรง

ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์
ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก


กลับสู่หน้าแรกบริการ รับผลิตกระบอกน้ำ